ReadyPlanet.com


การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (1)


 

การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (1)
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาผ่านร่างกฎหมายออกมาหลายฉบับและหนึ่งในกฎหมายที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้รับการพิจารณาอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้นายจ้างทั้งหลายมีเวลาปรับตัวและเตรียมการรองรับการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายนี้ ซึ่งผู้เขียนคาดว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ คงสามารถลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในสาระสำคัญหลายประการ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงการเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ กำหนดขั้นตอนวิธีการลงโทษทางอาญาให้ชัดเจน เหมาะสมและรัดกุมขึ้น โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างเป็นบางประเด็นที่เห็นว่าสำคัญ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ ดังนี้
• การแก้ไขเพิ่มเติมนิยามศัพท์ คำว่า "นายจ้าง"
• การให้ความคุ้มครองลูกจ้างรับเหมาค่าแรง โดยกำหนดให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกับลูกจ้างของผู้ว่าจ้างเหมา
• การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10 ว่าด้วยเรื่องการห้ามเรียกหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน
• การกำหนดในกฎหมายให้สัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา
• การเพิ่มอัตราค่าชดเชยพิเศษให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว หรือกรณีการย้ายสถานประกอบกิจการ
• การให้อำนาจศาลในการอำนวยความยุติธรรมแก่ลูกจ้างในกรณีที่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อตกลงในสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร
• การกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างต้องยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานแก่พนักงานตรวจแรงงานเป็นประจำทุกปี






วันนี้ผู้เขียนขอพูดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามศัพท์ คำว่า "นายจ้าง" ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้ตัดข้อความในมาตรา 5 (3) ออกไป ซึ่งเดิมเคยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการที่ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงโดยมอบหมายให้บุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่ง หรือมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการที่ว่าจ้างเหมาค่าแรงนั้น เป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วย
นายจ้างทั้งหลายอย่าเพิ่งดีใจว่า ตนเองพ้นภาระหน้าที่ความเป็นนายจ้างของลูกจ้างที่ว่าจ้างเหมาค่าแรงตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะมาตรา 5 (3) ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ผู้ร่างได้มีการนำมาตรานี้ไปบัญญัติใหม่เป็นมาตรา 11/1 ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีข้อความดังนี้
"ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือ ธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และ โดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ภายใต้สภาพการจ้างที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน"
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า มาตรา 11/1 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงพึงได้รับให้ชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกันนายจ้างผู้จ้างเหมาค่าแรงย่อมมีหน้าที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติมด้วย
คราวหน้าผู้เขียนจะนำเรียนถึงรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงและหน้าที่ของนายจ้างตามมาตรานี้ พร้อมทั้งประเด็นกฎหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรานี้ให้ทราบ


ผู้ตั้งกระทู้ คนกันเอง :: วันที่ลงประกาศ 2008-05-23 08:46:43


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.